MacDonald, James Ramsay. (1866-1937)

นายเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (๒๔๐๙-๒๔๘๐)

​​     ​​​เจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์เป็นนักการเมืองชาวสกอตซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* และได้เป็น ๒ สมัยคือใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๑ ทั้งเป็นนายก รัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติ (National Government) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๕ ด้วย แม้ในช่วงปลายของ ชีวิตการเมืองแมกดอนัลด์ถูกสมาชิกพรรคแรงงาน

ซึ่งเป็นพรรคที่เขามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประณามอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการยอมรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลแห่งชาติ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า แมกดอนัลด์เป็นผู้ผลักดันสำคัญที่ทำให้พรรคแรงงานกลายเป็นพรรคสำคัญอันดับ ๒ ในการเมืองอังกฤษแทนที่พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)*
     แมกดอนัลด์เกิดในหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่ลอซีเมาท์ (Lossiemouth) ในมณฑลมอรีเชียร์ (Morayshire) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ มารดาคือ แอนน์ แรมเซย์ (Anne Ramsay) ซึ่งเป็นสาวรับใช้และแรงงานรับจ้างในไร่ซึ่งไม่ได้ผ่านการสมรส เชื่อกันว่าบิดาของเขาคือชาวนารับจ้างชื่อ จอห์น แมกดอนัลด์ (John MacDonald) เขาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่เดรนี (Drainie) และจบการศึกษาขั้นต้นเมื่ออายุ ๑๒ ปี แต่แมกดอนัลด์ก็ยังคงอยู่ที่โรงเรียนต่อไปอีก ๖ ปี โดยทำหน้าที่นักเรียนช่วยสอน (pupil-teacher) ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เขาเดินทางไปเมืองบริสทอล (Bristol) เพื่อหางานทำ ณ ที่นี้เขาได้พบเห็นกิจกรรมของสหพันธ์สังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Federation) จึงทำให้เริ่มซึมซับกับความคิดแบบฝ่ายซ้าย ในปีต่อมาแมกดอนัลด์เดินทางเข้ากรุงลอนดอนและสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society)* ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยมแนวหลักของอังกฤษ แมกดอนัลด์เป็นคนที่ฉลาดและสู้งาน ขณะที่เขาทำหน้าที่ เสมียนทั่วไปในสำนักงานเฟเบียน เขาก็เข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ภาคค่ำไปด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ขณะที่ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวแมกดอนัลด์ก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นาน โดยสมัครที่เมืองเซาแทมป์ตัน (Southampton) ในปีต่อมา เขาก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญในสังกัดพรรคนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ใน ค.ศ ๑๙๐๐ แมกดอนัลด์ได้รับตำแหน่งเลขาธิการคนแรกของคณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงานหรือแอลอาร์ซี (Labour Representation Committee - LRC) ซึ่งเป็นสหพันธ์ขององค์กรสังคมนิยมต่าง ๆ ได้แก่ พรรค แรงงานอิสระ สมาคมเฟเบียน และสหภาพแรงงานต่าง ๆ ทั้งเป็นองค์กรนำร่องของพรรคแรงงานที่จะปรากฏอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๐๖ แมกดอนัลด์เป็นผู้สมัครของแอลอาร์ซีคนหนึ่งที่ ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสามัญจากจำนวนสมาชิกของแอลอาร์ซีที่ได้รับเลือกทั้งสิ้น ๒๙ คน ความสำเร็จของแอลอาร์ซีครั้งนี้ที่จากเดิมมีสมาชิกได้รับเลือกเข้าสภาเพียง ๒ คน เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่แมกดอนัลด์ในฐานะเลขาธิการแอลอาร์ซีได้ทำความตกลงลับกับเฮอร์เบิร์ต แกลดสโตน (Herbert Gladstone) หัวหน้าผู้คุมเสียงในสภา (chief whip) ของพรรคเสรีนิยมใน ค.ศ. ๑๙๐๓ หลังจากประสบความสำเร็จ แอลอาร์ซีก็ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการ
     ห้าปีต่อมา แมกดอนัลด์ได้ทำหน้าที่แทนแคร์ ฮาร์ดี (Keir Hardie)* ผู้นำพรรคแรงงานคนแรกโดยเป็นผู้นำพรรคแรงงานในสภาสามัญ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เขาก็ถูกบังคับให้ลาออกเพื่อเปิดทางให้อาเทอรฺ์ เฮนเดอร์สัน (Arthur Henderson)* นักการเมืองเชื้อสายสกอตเช่นเดียวกับเขา ทั้งนี้เนื่องมาจากแมกดอนัลด์มีทัศนะทำนองเดียวกับฮาร์ดีที่ใฝ่สันติไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างสงครามหรือการปฏิวัติ ในทัศนะ การเมืองแบบฝ่ายซ้ายของเขาแมกดอนัลด์ต้องการให้ประเทศดำเนินการไปสู่ระบอบสังคมนิยมอย่างสันติวิธีและค่อยเป็นค่อยไป ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* แมกดอนัลด์แสดงความเห็นว่าการที่อังกฤษประกาศสงครามต่อเยอรมนีนั้นเป็นการทำผิดทางด้านศีลธรรม ส่วนสมาชิกพรรคแรงงานคนอื่น ๆ เห็นว่าพรรคแรงงานต้องแสดงการสนับสนุนในการทำสงครามของประเทศครั้งนี้อย่างเต็มที่ จึงเห็นกันว่าคำพูดของแมกดอนัลด์ไม่ได้แสดงความรักชาติ แมกดอนัลด์สูญเสียความนิยมไปมากจากการนี้และก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสงครามโลกยุติในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘
     อย่างไรก็ดี แมกดอนัลด์ก็สามารถกลับเข้าไปนั่งในสภาสามัญได้ใหม่ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๒๒ ซึ่งจัดขึ้นเนื่องจากเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคอนุรักษนิยมถอนการสนับสนุนเขา นอกจากนี้แมกดอนัลด์ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสมาชิกสภาของพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่เนื่องจากแอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์ (Andrew Bonar Law)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยปัญหาสุขภาพ แสตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* เข้ารับตำแหน่งแทน บอลด์วินต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของอังกฤษในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ แม้ว่าสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมจะเห็นด้วยกับการยุติระบบการค้าเสรีของอังกฤษตามที่บอลด์วินเสนอ แต่นักการเมืองพรรคอื่น ๆ คัดค้านอย่างแข็งขันจนบอลด์วินต้องจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจในประเด็นนี้ผลปรากฏว่าพรรคอนุรักษนิยมยังคงมีชัยชนะเหนือพรรคอื่น โดยได้ ๒๕๘ ที่นั่ง แต่เป็นครั้งแรกที่จำนวนเสียงของพรรคอนุรักษนิยมที่ได้ยังน้อยกว่าจำนวนรวมของสมาชิกจากพรรคแรงงาน (๑๙๑ ที่นั่ง) กับพรรคเสรีนิยม (๑๕๘ ที่นั่ง) เฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท(Herbert Henry Asquith)* อดีตนายกรัฐมนตรีและ ผู้นำพรรคเสรีนิยมได้เสนอว่าพรรคเสรีนิยมยินดีที่จะสนับสนุนพรรคแรงงาน ดังนั้น ในวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ แมกดอนัลด์จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากพรรคแรงงาน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะเดียวกันด้วย
     ในการบริหารประเทศครั้งแรกซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่ถึง ๑ ปี แมกดอนัลด์ซึ่งสนใจด้านต่างประเทศมากกว่าเรื่องในประเทศก็ประสบความสำเร็จในการช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่ฝรั่งเศสและเบลเยียมเข้ายึดเขตรูร์ (Ruhr) ของเยอรมนี รัฐบาลแมกดอนัลด์ได้โน้มน้าวให้ฝรั่งเศสตกลงยอมรับแผนดอส์ (Dawes Plan)* ซึ่งเป็นโครงการของสหรัฐอเมริกาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปหลังสงครามโลกและทำให้เยอรมนีสามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศผู้ชนะได้ต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลพรรคแรงงานชุดแรกยังริเริ่มการจัดทำพิธีสารเจนีวาว่าด้วยความมั่นคงและการลดอาวุธซึ่งสมัชชาของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ก็ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ผลงานสำคัญของรัฐบาลในช่วงนี้อีกประการคือ การสามารถยับยั้งการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในไอร์แลนด์ได้สำเร็จ โดยรัฐบาลของแมกดอนัลด์ตกลงยกเลิกหนี้สินที่ เสรีรัฐไอร์แลนด์ (Irish Free State)* มีอยู่กับอังกฤษโดยแลกกับการที่เสรีรัฐไอร์แลนด์ยอมสละหรือยุติการเรียกร้องที่จะให้ ๖ มณฑลทางเหนือที่รวมเรียกว่า เขตอัลสเตอร์ (Ulster) กลับคืนไปรวมกันดังที่เคยเป็นมาก่อน ค.ศ. ๑๙๒๑
     อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลของแมกดอนัลด์ให้การรับรองสถานภาพของรัฐบาลสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๔ โดยหวังว่าการค้ากับสหภาพโซเวียตจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าของอังกฤษอันจะส่งเสริมการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ทั้งในเดือนสิงหาคม มีการทำสนธิสัญญาการค้าต่อกันอีกและมีการเอ่ยถึงการที่รัฐบาลอังกฤษให้สหภาพโซเวียตกู้เงินด้วย นักการเมืองทั้งของพรรคอนุรักษนิยมและพรรคเสรีนิยมต่างก็ไม่เห็นด้วยกับท่าทีนี้ของรัฐบาล พรรคเสรีนิยมที่ค้ำจุนพรรคแรงงานในการเป็นรัฐบาลอยู่จึงถอนตัวออก ยิ่งเมื่อรัฐบาลของแมกดอนัลด์ล้มเหลวที่จะดำเนินคดีกับเจ. อาร์. แคมป์เบลล์ (J. R. Campbell) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยข้อกล่าวหาว่าพยายามยั่วยุให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ โดยเกี่ยวพันกับจดหมายที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า "จดหมายซีโนเวียฟ" (Zinoviev Letter) ซึ่งสาธารณชนในอังกฤษเชื่อกันว่าเป็นจดหมายที่ทางสหภาพโซเวียตส่งมากระตุ้นให้ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ก่อการรุนแรงขึ้นในอังกฤษและไอร์แลนด์ ความหวั่นระแวงของประชาชนว่ารัฐบาลแมกดอนัลด์ฝักใฝ่กับสหภาพโซเวียตก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น
     จดหมายซีโนเวียฟนี้แม้ภายหลังจะยอมรับกันว่าไม่ได้ส่งมาจากสหภาพโซเวียต แต่การเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาก็เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของพรรคแรงงานเป็นสำคัญ พรรคแรงงานในช่วงนั้นไม่สามารถจัดการแก้ไขให้หลุดพ้นจากข้อวิจารณ์ว่าฝักใฝ่กับพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่บริหารสหภาพโซเวียตอยู่ ทั้งที่แมกดอนัลด์และสมาชิกพรรคของเขาโดยส่วนตัวก็ไม่ได้เห็นด้วยกับระบอบคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด เพียงแต่สนับสนุนการที่อังกฤษกับสหภาพโซเวียตจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งจึงเชื่อว่า กรีกอรี เยฟเซเยวิช ซีโนเวียฟ (Grigori Yevseyevich Zinoviev)* ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* เป็นผู้ส่งจดหมายมายังผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในอังกฤษจริง จดหมายฉบับดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Daily Mail ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพียง ๔ วัน แม้กระทรวงการต่าง ประเทศของอังกฤษได้ประท้วงสหภาพโซเวียตทันที แต่ก็เป็นไปได้ว่าจดหมายซีโนเวียฟมีผลสั่นคลอนคะแนนนิยมของพรรคแรงงานที่บริหารประเทศอยู่
     ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปลาย ค.ศ. ๑๙๒๔ พรรคอนุรักษนิยมได้เสียงข้างมากในสภาเป็นจำนวน ๔๑๕ เสียง ขณะที่พรรคแรงงานได้ ๑๕๒ เสียง และพรรคเสรีนิยมได้ ๔๒ เสียง แมกดอนัลด์จึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๔ พฤศจิกายน เป็นอันว่าพรรคแรงงานซึ่งมีแมกดอนัลด์เป็นผู้นำบริหารประเทศครั้งแรกอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐ เดือน บอลด์วินจากพรรคอนุรักษ นิยมได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งก็ได้บอกปัดสนธิสัญญาการค้ากับสหภาพโซเวียตที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้และตัดสัมพันธ์ทางการทูตด้วยใน ค.ศ. ๑๙๒๗ โดยอ้างเหตุผลว่าสหภาพโซเวียตได้กระทำจารกรรมในอังกฤษ เมื่อทางการอังกฤษส่งกำลังจู่โจมเข้าตรวจค้นที่ทำการของบริษัทอาร์โกส (Arcos) ซึ่งเป็นบริษัทพาณิชย์ของโซเวียตในกรุงลอนดอน แต่ไม่ได้พบหลักฐานของการจารกรรมแต่อย่างใด ในช่วงที่พรรคแรงงานเป็นฝ่ายค้านนี้ พรรคก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ (General Strike)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่พรรคแรงงานพึงกระทำ อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ พรรคแรงงานสามารถกอบกู้ความนิยมคืนมาเมื่อพรรคอนุรักษนิยมล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนับเป็นครั้งแรกที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคแรงงานได้คะแนนเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ แม้จะยังไม่ได้เสียงข้างมากในสภา (พรรคแรงงานได้ ๒๘๗ เสียง พรรคอนุรักษนิยมได้ ๒๖๑ เสียง และพรรคเสรีนิยมได้ ๕๙ เสียง)
     แมกดอนัลด์จึงได้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ในวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๙ โดยมีพรรคเสรีนิยมสนับสนุน ในการบริหารประเทศสมัยที่ ๒ นี้ แมกดอนัลด์ได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียตใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางทะเลระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และอาเทอร์ เฮนเดอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้จัดประชุมลดอาวุธโลกที่นครเจนีวา ขณะที่การบริหารประเทศสมัยที่ ๒ ดำเนินไปนั้น อังกฤษได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ทั่วโลกซึ่งเริ่มจากการที่ตลาดหุ้นในนครนิวยอร์กล่มใน ค.ศ. ๑๙๒๙ และกระทบกระเทือนเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๓๒ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งนี้เกินความสามารถที่รัฐบาลพรรคแรงงานจะแก้ไข ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๑ จำนวนคนว่างงานในอังกฤษเพิ่มจาก ๑ ล้านคน เป็น ๓ ล้านคน เงินรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลก็ลดลงด้วย ฟิลิป สโนว์เดน (Philip Snowden ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๙๓๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิเสธที่จะนำอังกฤษออกจากระบบมาตรฐานทองคำและไม่ยอมรับเงื่อนไขในการกู้เงินจากสหรัฐอเมริกาธนาคารแห่งประเทศอังกฤษก็เรียกร้องให้รัฐบาลตัดทอนค่าใช้จ่ายภาครัฐลง ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ กระทรวงการคลังเสนอให้ตัดสิทธิประโยชน์ที่ คนตกงานเคยได้รับและลดเงินเดือนข้าราชการ คณะรัฐมนตรีผ่านมาตรการนี้ ด้วยคะแนนเสียง ๑๒ : ๙ แต่รัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วย ๙ คนลาออก ที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงานหรือทียูซี (Trades Union Congress - TUC) ก็คัดค้านโดยเห็นว่าเป็นมาตรการซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ แมกดอนัลด์จึงลาออกในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ แต่เช้าวันรุ่งขึ้นแมกดอนัลด์ก็ได้รับการร้องขออย่างเร่งด่วนจากพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* ให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งเป็นรัฐบาล ผสม ๓ พรรค คือ พรรคแรงงาน พรรคเสรีนิยม และพรรคอนุรักษนิยม รัฐบาลชุดใหม่ประกอบด้วย รัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน ๔ คน พรรคอนุรักษนิยม ๔ คน และพรรคเสรีนิยม ๒ คน แต่แมกดอนัลด์ไม่ได้ปรึกษาสมาชิกพรรคของตนในการตัดสินใจรับเป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาติในวันนั้น เมื่อสมาชิกพรรคแรงงานทราบว่าผู้นำพรรคเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่หลังการลาออกเพียง ๑ วันต่างพากันแปลกใจ ตกใจ และไม่พอใจเพราะเห็นว่าการบริหารแบบรัฐบาลแห่งชาติจะทำให้พรรคแรงงานอ่อนแอลง จึงสมัครใจจะเป็นฝ่ายค้าน
     แมกดอนัลด์ถูกสมาชิกพรรคโจมตีอย่างสาดเสียเทเสีย และถูกขับออกจากพรรคในฐานะผู้ทรยศจอร์จ แลนส์เบอรี (George Lansbury)* ซึ่งปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาลชุดใหม่ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน มีสมาชิกสภาจากพรรคแรงงานเพียง ๗ คนเท่านั้นที่ยังคงสนับสนุนแมกดอนัลด์ สมาชิกพรรคแรงงานยิ่งประณามแมกดอนัลด์มากขึ้นเมื่อเขาจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ผลปรากฏว่าผู้สมัครในนามรัฐบาลแห่งชาติได้รับเลือก ๕๕๖ คน แต่เป็นสมาชิกที่มาจากพรรคแรงงานเดิมเพียง ๑๓ คน ดังนั้น การดำรง ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลครั้งนี้ของแมกดอนัลด์ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานแห่งชาติ (National Labour Party) ด้วยนั้น จึงขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ในสภาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมถึง ๔๗๒ คน ส่วนพรรคแรงงานฝ่ายค้านได้เพียง ๕๖ ที่นั่ง
     ในช่วงที่แมกดอนัลด์เป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาตินี้รัฐบาลได้รีบแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มภาษีเพื่อชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีการตัดรายจ่ายของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดดุลงบประมาณ การลดอัตราดอกเบี้ย การนำอังกฤษออกจากมาตรฐานทองคำ และการลดค่าเงินปอนด์จาก ๑ ปอนด์ ซึ่งเคยมีมูลค่า ๔.๘๖ ดอลลาร์สหรัฐเป็น ๓.๔๙ ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าของอังกฤษ แต่ก็ทำให้ชาวอังกฤษรู้สึกว่าเสียเกียรติภูมิของประเทศมาก ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ รัฐบาลประกาศใช้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเข้าอังกฤษเพื่อประโยชน์ของสินค้าที่ผลิตในประเทศ การประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีนำเข้า (Import Duties Act) นี้ถือเป็นการยุตินโยบายการค้าเสรีที่ อังกฤษยึดถือมานับศตวรรษในการประชุมเศรษฐกิจแห่งจักรวรรดิ (Imperial Economic Conference) ที่กรุงออตตาวา ปลาย ค.ศ. ๑๙๓๒ ก็ได้มีการตกลงใช้ระบบพิกัดอัตราศุลกากรให้ความอนุเคราะห์แก่ประเทศในจักรวรรดิ (Imperial Preference) วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจึงทำให้อังกฤษต้องยกเลิกระบบการค้าเสรีที่เป็นนโยบายหลักที่ยึดถือมานาน
     ในที่สุดแมกดอนัลด์ก็ไม่สามารถบริหารงานได้อย่างสะดวกใจ บอลด์วิน ประธานสภาองคมนตรี (Lord President of the Council) ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนุรักษนิยมเป็นผู้ที่มีบทบาทในการบริหารประเทศที่ แท้จริงมากกว่า ดังนั้น ในวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๕ หลังจากชาวอังกฤษเฉลิมฉลองในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) ของพระเจ้าจอร์จที่ ๕ แมกดอนัลด์ซึ่งมีสุขภาพเสื่อมลงด้วยก็ลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาล โดยแลกตำแหน่งกับบอลด์วินซึ่งเปลี่ยนไปเป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาติแทน ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ แมกดอนัลด์ก็ได้ลาออกจากการเป็นประธานสภาองคมนตรี และไม่นานหลังจากนั้น เจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงานคนแรกก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมบนเรือขณะที่กำลังเดินทางไปอเมริกาใต้ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ขณะอายุ ๗๑ ปี แม้ว่าแมกดอนัลด์จะไม่ประสบความสำเร็จในบั้นปลายของชีวิตการเมืองนักและถูกสมาชิกพรรคแรงงานประณามว่าเป็น "ผู้ทรยศ" แต่ผลงานการเป็นผู้นำพรรคของเขาก่อนหน้านั้นที่พยายาม ประนีประนอมและการนำพรรคอยู่ในสายกลางก็มีส่วนช่วยให้พรรคแรงงานได้เลื่อนขึ้นเป็นพรรคอันดับ ๒ ของการเมืองอังกฤษสำเร็จ โดยเป็นการแทนที่ พรรคเสรีนิยมซึ่งไม่ได้หวนกลับมายิ่งใหญ่ดังในศตวรรษก่อนอีกเลย
     แมกดอนัลด์สมรสกับมาร์กาเรต แกลดสโตน (Margaret Gladstone) บุตรสาวนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ เธอชื่นชอบในลัทธิสังคมนิยมและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตแรงงานสตรี (Women’s Labour League) เป็นผู้หนึ่งที่ รณรงค์เพื่อสิทธิสตรีอย่างแข็งขันและสนับสนุนการทำงานขององค์กรการกุศลและสวัสดิการต่าง ๆ ในเขตตะวันออกของกรุงลอนดอนซึ่งเป็นเขต อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๖ คน เธอมีอิทธิพลและเป็นแรงสนับสนุนสำคัญยิ่งในชีวิตของเขา มาร์กาเรต แมกดอนัลด์เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษใน ค.ศ. ๑๙๑๑ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของแมกดอนัลด์จนว่ากันว่าเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถบรรเทาลงได้เลย แมกดอนัลด์จึงไม่ได้สมรสใหม่จนตลอดชีวิตของเขา หนังสือชีวประวัติบางตอนของเขาที่พิมพ์เผยแพร่คือ Life of James Ramsay MacDonald ( ค.ศ. ๑๙๓๙) โดยลอร์ดเอลตัน (Lord Elton) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมชีวิตของเขาถึง ค.ศ. ๑๙๑๙ และหนังสือชีวประวัติเล่มสำคัญของเขาคือ Ramsay MacDonald แต่งโดยเดวิด มาร์ควานด์ (David Marquand) ซึ่งพิมพ์ ใน ค.ศ. ๑๙๗๗ นอกจากนี้ยังมีหนังสือชีวประวัติอีกเล่มหนึ่งที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่คือ The Tragedy of Ramsay MacDonald ซึ่งประพันธ์โดย แอล แมกนีลล์ เวียร์ (L. MacNeill Weir) ใน ค.ศ. ๑๙๓๘


ซีโนเวียฟ ซึ่งเป็นผู้บริหารคนสำคัญขององค์การโคมินเทิร์นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๖ มีชื่อเดิม๒ ชื่อคือออฟเซล เกียร์ชอน อะโรนอฟ ราโดมืยเซลสกี (Ovsel Gershon Aronov Radomyslsky) และอีสช์ อัปเฟลบาอูม (Hirsch Apfelbaum) เป็นชาวยูเครนเชื้อสายยิว เขาใช้ ชื่อซีโนเวียฟซึ่งเป็นชื่อปลอม ในการเคลื่อนไหวต่อต้านการบริหารประเทศของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* และ กลายเป็นชื่อที่ รู้จักกันมากกว่าชื่อจริงใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซีโนเวียฟได้เดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์เข้าสู่รัสเซียพร้อมกับวลาดีมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เพื่อก่อการปฏิวัติเมื่อเลนินเสียชีวิตแล้ว ซีโนเวียฟขัดแย้งกับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* และถูกกล่าวหาว่าอยู่ฝ่ายสนับสนุนเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ซีโนเวียฟจึงถูกขับออกจากพรรคและ ต้องไปพำนักนอกประเทศ เมื่อเขากลับเข้าไปในโซเวียตใหม่ก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฏในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๕ โดยถูกหาว่าพัวพันกับแผนลอบสังหารสตาลินและเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergei Mironovich Kirov)* เขาถูกตัดสินจำคุก๑๐ ปีพร้อมกับเลฟ โบรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* ต่อมาซีโนเวียฟได้ถูกไต่สวนครั้งที่ ๒ ด้วยข้อหาวางแผนคบคิดกับมหาอำนาจนอกประเทศ ทั้งคู่ถูกตัดสินประหารใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ของสตาลินต่อสมาชิกบอลเชวิครุ่นแรก และกลุ่มปรปักษ์ต่อเขา อย่างไรก็ ดีใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ซีโนเวียฟได้รับการกู้เกียรติคืนมาเมื่อศาลสูงสุดของสหภาพโซเวียตประกาศว่าการ พิจารณาคดีซีโนเวียฟใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เป็นโมฆะ

คำตั้ง
MacDonald, James Ramsay.
คำเทียบ
นายเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์
คำสำคัญ
- ระบบพิกัดอัตราศุลกากรให้ความอนุเคราะห์แก่ประเทศในจักรวรรดิ
- แกลดสโตน, มาร์กาเรต
- มาร์ควานด์, เดวิด
- แลนส์เบอรี, จอร์จ
- เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- สโนว์เดน, ฟิลิป
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- พระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีนำเข้า
- พรรคแรงงาน
- การประชุมเศรษฐกิจแห่งจักรวรรดิ
- บริสทอล, เมือง
- พรรคเสรีนิยม
- แมกดอนัลด์, จอห์น
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- แกลดสโตน, เฮอร์เบิร์ต
- มอรีเชียร์, มณฑล
- แรมเซย์, แอนน์
- เซาแทมป์ตัน, เมือง
- คณะกรรมาธิการผู้แทนผู้ใช้แรงงาน
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- สมาคมเฟเบียน
- ฮาร์ดี, แคร์
- สหพันธ์สังคมประชาธิปไตย
- ลอว์, แอนดรูว์ โบนาร์
- พรรคแรงงานอิสระ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แคมป์เบลล์, เจ. อาร์.
- เฮนเดอร์สัน, อาเทอร์
- จดหมายซีโนเวียฟ
- พรรคบอลเชวิค
- แผนดอส์
- รูร์, เขต
- สันนิบาตชาติ
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- เสรีรัฐไอร์แลนด์
- อัลสเตอร์, เขต
- การนัดหยุดงานครั้งใหญ่
- โคมินเทิร์น
- คาเมเนฟ, เลฟ โบรีโซวิช
- นโยบายกวาดล้างครั้งใหญ่
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี เยฟเซเยวิช
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- ตรอตสกี, เลออน
- เลนิน, วลาดีมีร์ อิลยิช
- ราโดมืยเซลสกี, ออฟเซล เกียร์ชอน อะโรนอฟ
- สตาลิน, โจเซฟ
- เอลตัน, ลอร์ด
- อีสช์ อัปเฟลบาอูม
- เวียร์, แอล แมกนีลล์
- สันนิบาตแรงงานสตรี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1866-1937
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๙-๒๔๘๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf